ประวัติความเป็นมาของตำรวจภูธรจังหวัดพิษณุโลก

ประวัติตำรวจภูธรจังหวัดพิษณุโลก

             นับตั้งแต่รัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ปฏิรูประบบราชการให้ทันสมัยทั่วประเทศ มีการจัดการปกครองหัวเมืองต่าง ๆ แบบเทศาภิบาลเพื่อสร้างเอกภาพทางการปกครอง และรักษาเอกราชของชาติให้พ้นจากภัยคุกคามของประเทศทางตะวันตกที่แผ่อิทธิพลเข้ามา  มณฑลเทศาภิบาลเริ่มเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๓๕ เป็นหน่วยราชการส่วนภูมิภาคที่รวมเมืองใกล้เคียงเข้าด้วยกัน มีข้าหลวงเทศาภิบาลเป็นหัวหน้า  ในด้านกิจการตำรวจ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพัฒนากิจการตำรวจไปสู่มณฑลต่าง ๆ ทั่วราชอาณาจักรด้วยเริ่มต้นในปี พ.ศ. ๒๔๔๐ (ร.ศ.๑๑๖) โดยมีพระราชดำริว่า “กิจการที่ได้ทำอยู่ในหัวเมืองมณฑลต่าง ๆ นั้นยังไม่เป็นที่เกรงขามแก่พวกนักเลงปล้นสะดมและยังไม่เหมาะกับสมัยของบ้านเมือง”เพื่อจะให้ความปลอดภัยและสงบสุขแก่อาณาประชาราษฎร์จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เสนาบดีกระทรวงมหาดไทยจัดตั้งกองตำรวจภูธรในหัวเมืองมณฑลต่าง ๆ ขึ้น กิจการตำรวจภูธรได้ขยายขึ้นตามลำดับโดยค่อยๆครอบคลุมเขตพื้นที่ รักษาความสงบเรียบร้อยในหัวเมืองให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยในปีพ.ศ. ๒๔๔๔ จัดตั้งกองตำรวจภูธรมณฑลพิษณุโลก ขึ้นพร้อมกับ นครศรีธรรมราช และ ปัตตานี นับเป็นจุดกำเนิดของกองตำรวจภูธรมณฑลพิษณุโลก สอดคล้องกับหลักฐานลายพระราชหัตถเลขา พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๕ เนื่องในพระราชวโรกาส เสด็จเลียบมณฑลฝ่ายเหนือเมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๔ ตอนหนึ่ง ข้อความว่า “..เวลาเช้า ๒ โมงเศษลงเรือล่องลงไปขึ้นที่หน้าตลาด..ตอนปลายไปใกล้ถึงโรงสุรา เป็นโรงคนเช่าอยู่ไม่ได้ค้าขาย…และดูโรงสุราแล้ว กลับขึ้นมาดูโรงเรียนแผนที่ มีเรือนครูฝรั่งหลังหนึ่ง..ออกจากนั้นไปผ่านหน้าบ้านเจ้าพนักงาน ป่าไม้และที่พักตำรวจภูธรซึ่งยังไม่ได้ทำขึ้นใหม่ เป็นแต่อาศัยที่ดินอยู่ …”

       ในปี พ.ศ. ๒๔๖๙ มีมหาอำมาตย์ตรีพระยาเพ็ชรปาณี ดำรงตำแหน่งสมุหเทศาภิบาลมณฑลพิษณุโลก และมีพระยากัลยาณวัฒนวิศิษฐ์ เป็นผู้ว่าราชการจังหวัด นายพันตำรวจโทพระสท้านไตรภพ(มากมาย มุสิลักษณ์) ผู้บังคับการตำรวจภูธร และนายร้อยตำรวจเอกคุณคำแหงสิงหนาท(อั่น ไชยนิพัฒน์) ผู้บังคับกองตำรวจภูธร และ ปี พ.ศ.๒๔๘๑ มี พันตำรวจตรีหลวงฤทธิ์สรไกร เป็นผู้บังคับบัญชา(ผู้กำกับการตำรวจภูธรจังหวัดพิษณุโลก) เป็นคนแรก

            เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๐๖ กรมตำรวจได้ทำการก่อสร้างอาคารที่ทำการตำรวจขึ้นบนถนนบรมไตรโลกนาถ เป็นอาคารตึก ๔ ชั้น ชั้นล่างสุด เป็นสถานีตำรวจภูธรอำเภอเมืองพิษณุโลก ชั้นที่สอง เป็นกองกำกับการตำรวจภูธรจังหวัดพิษณุโลก ชั้นที่สาม เป็นที่ทำการ ศปร. พตท.๖ ชั้นที่สี่ เป็นสถานที่เก็บเอกสารและวัสดุสิ่งของของทางราชการ

            ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๔๗ สำนักงานตำรวจแห่งชาติได้อนุมัติให้ย้ายที่ทำการตำรวจภูธรภาค ๖ ไปยังที่ทำการปัจจุบัน ตำบลมะตูม อำเภอพรหมพิราม จังหวัดพิษณุโลก ตำรวจภูธรจังหวัดพิษณุโลก จึงย้ายจากชั้น ๒ อาคารเดิมมาอยู่ ณ อาคารตำรวจภูธรภาค ๖ เดิมที่ย้ายออกไป จนถึงปี พ.ศ. ๒๕๕๕ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ จึงได้อนุมัติงบประมาณจำนวน ๓๐ ล้านบาท ทำการก่อสร้างที่ทำการตำรวจภูธรจังหวัดพิษณุโลก ปัจจุบันเลขที่ ๒๓๔ หมู่ ๕ ตำบลหัวรอ อำเภอเมือง จังหวัดพิษณุโลก เนื้อที่ ๗ ไร่ ๑ งาน ๑๒ ตารางวา  สร้างเมื่อ ๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๔ เสร็จเมื่อ ๑๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๖ และย้ายจากที่ทำการเดิมมาเมื่อปี ๒๕๕๗ จนถึงปัจจุบัน ซึ่งเมื่อนับแต่ปรากฎหลักฐานการดำรงตำแหน่งผู้กำกับการตำรวจภูธรจังหวัดพิษณุโลกคนแรกเมื่อปี ๒๔๘๑ จนถึงปัจจุบันแล้ว ตำรวจภูธรจังหวัดพิษณุโลก ได้ก่อตั้งมาแล้วนับเวลาได้ ๘๔ ปี

ที่มา: บันทึกของ พล.ต.ต.วีระสมพร อยู่ศรีสกุล 

         หนังสือ ๑๑๑ ปี ตำรวจภูธรภาค ๕ 

         เอกสารบรรยายสรุป สภ.อ.เมืองพิษณุโลก เนื่องในโอกาสคณะจเรตำรวจมาตรวจราชการ เมื่อวันที่ ๑ กรกฎาคม ๒๕๓๑

ที่ตั้งและลักษณะทางกายภาพ

    ตำรวจภูธรจังหวัดพิษณุโลก เป็นหน่วยงานระดับกองบังคับการ สังกัดตำรวจภูธรภาค 6 สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ตั้งอยู่ที่ ถนนบรมไตรโลกนารถ ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดพิษณุโลก ปัจจุบันย้ายไปที่ 234 หมู่ 5 ต.หัวรอ อ.เมือง จ.พิษณุโลก   

สถานภาพกำลังพล

         ตำรวจภูธรจังหวัดพิษณุโลก มีกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจทั้งสิ้น 1,621 นาย แยกเป็น

•  ชั้นสัญญาบัตร

         อัตราอนุญาต  814 นาย  ตัวคนจริง   719 นาย  ว่าง  95  นาย

•  ชั้นประทวน

         อัตราอนุญาต  1,446  นาย  ตัวคนจริง   902  นาย  ว่าง  544  นาย

การปกครอง

        ตำรวจภูธรจังหวัดพิษณุโลก  มี พล.ต.ต.นิคม  เครือนพรัตน์ เป็น ผู้บังคับการ ตำรวจภูธรจังหวัดพิษณุโลก

       การปกครองแบ่งเป็น 18 สถานีตำรวจภูธร , เป็นสถานีตำรวจที่มี ผู้กำกับการ เป็น หัวหน้าสถานี จำนวน 10 สถานี สถานีตำรวจที่มี สารวัตรใหญ่ เป็นหัวหน้า  5 สถานี สถานีตำรวจที่มีสารวัตร เป็น หัวหน้าสถานี จำนวน 3 สถานี

การบริหาร

        การบริหารงานของตำรวจภูธรจังหวัดพิษณุโลก ยึดหลักการบริหารตามนโยบายของ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ดังนี้

                1. การให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารงานของตำรวจโดยการสรรหาบุคคลจากหลายหลากอาชีพ ผู้นำภาคเอกชน เข้ามาเป็น คณะกรรมการตรวจสอบและติดตามการบริหารงานตำรวจ ทั้ง ระดับตำรวจภูธรจังหวัด และระดับสถานีตำรวจ เพื่อ แลกเปลี่ยนความคิดเห็น รับฟังข้อเสนอแนะ และเพื่อทราบความต้องการของประชาชนในพื้นที่ นำมาปรับปรุงทิศทางการปฏิบัติงานของตำรวจให้สอดคล้องกับความต้องการของประชาชน

                2. การป้องกันเชิงรุกในพื้นที่โดยปรับกลยุทธ์การทำงานของสายตรวจให้มีมาตรฐาน เป็นระบบ ในลักษณะของ ปฏิบัติการเชิงรุก สืบสภาพพื้นที่ ให้รู้และเข้าใจถึงปัญหาของพื้นที่ปัญหาของชุมชน สามารถแก้ไขปัญหาเข้าถึงจิตใจของประชาชนและสร้างความปลอดภัยให้กับชุมชนได้ โดยนำกลยุทธ์ใหม่ตามพื้นฐานแนวคิดจาก ทฤษฎี ” ตำรวจชุมชน ” (Community Policing) อันประกอบด้วยมาตรการสายตรวจชุมชน มาตรการ เพื่อนบ้านระวังภัย และมาตรการชุมชนปลอดยาเสพติดมาใช้เป็นแนวทางการปฏิบัติ

                3. การให้บริการเสร็จสิ้น ณ จุดเดียว (One Stop Service) ในสถานีตำรวจ โดยการดำเนินการตามโครงการพัฒนาสถานีตำรวจเพื่อประชาชนอย่างต่อเนื่อง ปรับ กระบวนการและระบบการให้บริการประชาชนให้เสร็จสิ้น ณ จุดเดียว รวดเร็ว ถูกต้อง เสมอภาค และ เป็นธรรมอย่างแท้จริง

.                4. การคลี่คลายคดีแบบบูรณาการ ปรับปรุงระบบการสืบสวนสอบสวนคลี่คลายคดีของสถานีตำรวจ โดยเมื่อมีคดีเกิดขึ้น พนักงานสอบสวน เจ้าหน้าที่ฝ่ายสืบสวน และเจ้าหน้าที่สายตรวจต้องร่วมกันรับผิดชอบคดีที่เกิดขึ้น และ ร่วมกันไปตรวจสอบยังสถานที่เกิดเหตุโดยด่วน เพื่อให้ทราบข้อเท็จจริงและวางแผนคลี่คลายคดี เพื่อติดตามจับกุมผู้กระทำผิดได้อย่างรวดเร็ว

               5. ประกาศสัญญาประชาคมในการให้บริการประชาชน  กำหนด หัวข้อเรื่อง ระยะเวลาในการบริการประชาชน ให้เป็นไปอย่างสะดวก รวดเร็ว เพื่อสร้างความพึงพอใจสูงสุดให้กับประชาชนผู้มารับบริการ

               6. การพัฒนาบุคลากร ข้าราชการตำรวจเป็นทรัพยากรที่สำคัญของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ จึงต้องได้รับการ พัฒนาอย่างต่อเนื่อง ให้สอดคล้องกับโครงสร้างการกระจายอำนาจและการพัฒนาความเป็นมืออาชีพ เพื่อรองรับภารกิจที่เพิ่มขึ้นอย่างหลากหลาย โดยได้อบรมความรู้ด้านกฎหมายยุทธวิธีตำรวจ การฝึกประจำสัปดาห์ให้กับข้าราชการตำรวจในสังกัด เป็นการเพิ่มพูนความรู้และเตรียมความพร้อมด้านร่างกายก่อนออกปฏิบัติหน้าที่

สถานการณ์ความมั่นคงชายแดน

        จังหวัดพิษณุโลก มีพื้นที่ชายแดนติดต่อกับสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ด้านอำเภอ ชาติตระการ รวมระยะทางประมาณ 19 กิโลเมตร

สถานการณ์สู้รบไม่มี ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ อยู่ในเกณฑ์ดี ไม่มีช่องทางเข้า – ออกระหว่างพรมแดน

ของดีจังหวัดพิษณุโลก

    พระพุทธรูป วัด โบราณสถาน ปูชนียวัตถุ และสถานที่สำคัญ

        1. วัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร ( วัดใหญ่ )

    ที่ ตั้ง ริมฝั่งแม่น้ำน่านทางทิศตะวันออก ตรงข้ามกับศาลากลางจังหวัดพิษณุโลก เป็นที่ประดิษฐานของพระพุทธชินราช ซึ่งเป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย ศอกคืบ 5 นิ้ว

    มีหน้าตักกว้าง 5 ลงรักปิดทองทั้งองค์ มีเรือนแก้วประดับรับกับองค์พระปฏิมา

        2.วัดจุฬามณี

    ที่ตั้ง ตำบลท่าทอง อำเภอเมืองพิษณุโลก ห่างจากตัวเมืองพิษณุโลกไปทางทิศใต้ ประมาณ 5 กิโลเมตร ติดถนนสายพิษณุโลก – บางกระทุ่ม

    วัด นี้เป็นโบราณสถานที่มีมาก่อนกรุงสุโขทัย แต่ไม่มีหลักฐานปรากฏว่าใครเป็นผู้สร้างวัดจุฬามณีเป็นวัดสำคัญและมีค่าทาง ประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจ

        3.ศาลสมเด็จพระนเรศวรมหาราช และพระราชวังจันทน์

    ที่ ตั้ง ฝั่งแม่น้ำน่านด้านทิศตะวันตก ตัวศาลเป็นรูปทรงไทยโบราณตรีมุขพระรูปสมเด็จพระนเรศวรมหาราชเท่าพระองค์จริง ประทับนั่ง พระหัตถ์ทรงพระสุวรรณภิงคารหลังน้ำใน

    พระอริยาบถประกาศอิสรภาพที่เมืองแครง

        4.พิพิธภัณฑ์พื้นบ้าน จ่าสิบเอก ดร . ทวี – พิมพ์ บูรณเขตต์

    ที่ ตั้ง อยู่ในตัวเมืองพิษณุโลก เป็นสถานที่รวบรวมสะสมศิลปวัตถุ ข้าวของเครื่องใช้โบราณต่าง ๆ มากมาย อันแสดงถึงภูมิปัญญาท้องถิ่น

    แหล่งท่องเที่ยว

        1.น้ำตกชาติตระการ หรือน้ำตกปากรอง ที่ตั้ง บ้านปากรอง ตำบลบ่อภาค อำเภอชาติตระการ อยู่ห่างจากตัวจังหวัด พิษณุโลก

    ประมาณ 140 กิโลเมตร เป็นน้ำตกที่อยู่ไกลและสวยงามที่สุด มีน้ำตกเป็นระยะตามหน้าผาเป็นชั้น ๆ ถึง 7 ชั้น บนหน้าผามีผึ้งเกาะทำรังอยู่เป็นนิคมใหญ่ มีกล้วยไม้และพันธุ์ไม้ต่าง ๆ ขึ้นอยู่หลายชนิดมากมายสวยงามน่าชมมาก

        2.วนอุทยานแห่งชาติทุ่งแสลงหลวง

    ที่ ตั้ง ตำบลบ้านแยง อำเภอนครไทย ที่ทำการอุทยานแห่งชาติทุ่งแสลงหลวง บริเวณ หลักกิโลเมตรที่ 80 ถนนสายพิษณุโลก – อำเภอหล่มสัก จว . เพชรบูรณ์ เป็น อุทยานที่อุดมด้วยป่าไม้และ สัตว์       ป่า นานาพันธุ์ มีอาณาเขตกว้างขวาง มีสะพานแขวนให้ไต่ข้ามลำห้วย ลำคลอง ชวนให้ตื่นเต้น สนุกสนานยิ่งนัก

        3.อุทยานแห่งชาติภูหินร่องกล้า

    ที่ตั้ง บ้านร่องกล้า ตำบลเนินเพิ่ม อำเภอนครไทย อยู่ห่างจากตัวจังหวัดพิษณุโลก ประมาณ 138 กิโลเมตร เป็นเทือกเขาซึ่งติดต่อกัน 3 จังหวัด คือ จังหวัดพิษณุโลก เพชรบูรณ์ และจังหวัดเลย มียอด       ความสูงที่สุด เหนือระดับน้ำทะเล 1,677 เมตร บนภูหินร่องกล้า มีป่าไม้ 3 ประเภท ปกคลุมอยู่ คือ ป่าเต็งรัง ป่าดิบเขา และป่าสนเขา

ตำรวจภูธรจังหวัดพิษณุโลก

234 ม.5 ต.หัวรอ อ.เมือง จ.พิษณุโลก 65000

โทร.0-5525-9000 โทรสาร 0-5525-9000

Email : 055259000pitlok@gmail.com 

Website : https://sites.google.com/site/phitlokpol2016